เชื้อรา ทำให้เราป่วยได้เพราะอย่างไร
เนื้อหาตอนนี้เราจะมาคุยกันถึงสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “เชื้อรา” กันนะคะ ยิ่งเฉพาะหลังน้ำท่วม หรือช่วงฝนตกทำให้เรามีโอกาสได้เจอเจ้าเชื้อรากันบ่อยและเยอะจนน่ากลัวเลยนะคะ แต่จริง ๆ แล้วไม่ต้องมีน้ำมาท่วมบ้าน หรือฝนตก ในบ้านเราก็มีเชื้อรานี้กันอยู่แล้วค่ะ เพียงแต่มากหรือน้อย หรือเป็นชนิดที่เป็นอันตรายต่อเราหรือไม่เท่านั้นเองค่ะ ที่สำคัญมันส่งผลเสียอะไรกับเราบ้าง และจะทำให้บ้านของเราไม่เกิดเชื้อราได้อย่างไร
เชื้อรามาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า “เชื้อรา” มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการรู้ที่มาและการเกิด จะทำให้เราควบคุมให้ “ไม่เกิดเชื้อรา” ได้จากต้นเหตุจริง ๆ เรามาดูกันนะคะ ว่าอะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้ “เกิดเชื้อรา” ได้แก่
- น้ำหรือความชื้น
น้ำ เปรียบเสมือน “อาหาร” มื้อหลักของเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นน้ำในรูปของ “ของเหลว” “ไอน้ำ” หรือ “การควบแน่น” น้ำหรือความชื้นมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา เมื่อพื้นผิวของวัสดุ (ที่เป็นอาหารของเชื้อรา) มีความชื้นสัมพัทธ์ 90-100% จะเป็นช่วงที่เชื้อราเติบโตได้ดี และช่วงความชื้นสัมพัทธ์ 40-60% จะเป็นช่วงที่เชื้อรามีการเติบโตน้อย นั่นคือ ช่วงเวลาบ่ายๆ ของเมืองไทยเรา (ฝนไม่ตก) และช่วงที่เปิดเครื่องปรับอากาศ
- อาหารของเชื้อรา
อาหารสำคัญของเชื้อรา ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่งภายในอาคาร และฝุ่น ซึ่งฝุ่นนี้เองที่เป็นที่อยู่ของเชื้อราบางชนิดได้เป็นอย่างดี เมื่อมีความชื้นสูงเชื้อราจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นที่มาของกลิ่นอับภายในห้อง นอกจากนั้น เมื่อฝุ่นเกาะตามผิววัสดุต่างๆ แม้วัสดุที่ไม่ดูดซับน้ำ เช่น กระจก พลาสติก ก็จะทำให้เกิดเชื้อราตามผิววัสดุดังกล่าวได้อีกด้วย
- อุณหภูมิ
อุณหภูมิ เสมือนเป็น ตัวเร่งให้เชื้อราเจริญเติบโต ซึ่งเชื้อราแต่ละชนิดชอบช่วงอุณหภูมิที่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มีช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อราอยู่ที่ 15-30 องศาเซลเซียส แต่ถ้าใช้อุณหภูมิ 60-63 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที จะสามารถฆ่าเชื้อราได้
สรุปการเกิดเชื้อรา พบว่า ความชื้น มีอิทธิพลต่อการงอกและเติบโต (Germination) ของเชื้อรามากที่สุด รองลงมาคือวัสดุ หรืออาหารของเชื้อรา และสุดท้ายคือ อุณหภูมิดังนั้น วิธีการลดการเกิดเชื้อราภายในบ้านของเรา สามารถทำได้ตั้งแต่การออกแบบบ้าน การก่อสร้างและการใช้งานภายในบ้านที่ไม่เป็นต้นเหตุของการเกิดเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความชื้นที่เข้าสู่บ้านในส่วนต่าง ๆ จนลดการเกิดแหล่งเพาะพันธ์เชื้อราอันมีผลต่อคุณภาพอากาศภายในอาคารได้นั่นเอง
เชื้อรามีผลต่อสุขภาพเราจริงเหรอ?
หลายคนคงมีคำถามว่า “ มีเชื้อราในบ้าน…แล้วยังไง? ” กระทรวงสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US EPA) ได้มีการวิจัยและสำรวจ พบว่า ผู้ป่วยโรคหอบหืด 21.8 ล้านคนทั่วประเทศ มี 4.6 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 5 ส่วน ที่ระบุได้ว่า ความชื้นและเชื้อราภายในบ้านเป็นตัวการที่ทำให้เป็นโรคหอบหืด นอกจากนั้น สปอร์และเส้นใยของเชื้อราก็ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ อีกด้วย จากการที่สปอร์เชื้อราเป็นส่วนที่ใช้ในการแพร่พันธุ์ อนุภาคสปอร์จะลอยไปยังที่ต่างๆ ตามอากาศ น้ำ สัตว์เลี้ยง และยังปะปนเข้าสู่ระบบปรับอากาศของบ้านนั่นเอง
สารพิษจากเชื้อราก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุตา ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน อันนำมาซึ่ง โรคอาคารป่วย (Sick Building Syndrome) โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ และโรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้
เราคงไม่คิดว่าการนั่งอยู่ในบ้านอันแสนสุขของเรา จะทำให้เราป่วยได้ แต่จากข้อมูลจะเห็นว่า “เชื้อรา” เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย แต่เราสามารถห่างไกลจากเชื้อราได้ด้วยการ “ตัดวงจร” การเกิดเชื้อราทั้ง 3 ส่วนนั้นไม่ให้มาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวัสดุ ลดการสะสมของฝุ่น การลดความชื้นภายในบ้านของเรา หรือแม้แต่การควบคุมให้อากาศภายในบ้านของเราอยู่ในช่วงที่ “เชื้อราไม่ชอบ”
เนื้อหาตอนนี้สร้างความเข้าใจการเกิดเชื้อราและผลเสียต่อสุขภาพแล้ว เนื้อหาตอนต่อไปจะเป็นการแนะนำเทคนิคการทำให้บ้านของเรา “ปลอดเชื้อรา” โดยการตัดวงจรของการเกิดเชื้อรา จนสามารถ “ป้องกัน” หรือ “ลด” เชื้อราให้กับบ้านของเราได้ ซึ่งเป็นการลดแนวโน้มความเจ็บป่วยให้กับคนในบ้านของเรานั่นเอง
เครดิต : de-landhousingservice.com